วิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน พร้อมตัวอย่างตารางคำนวณอัตราดอกเบี้ย !
วิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน

วิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน พร้อมตัวอย่างตารางคำนวณอัตราดอกเบี้ย !

สำหรับคนที่กำลังวางแผนอยากจะมีบ้านเป็นของตนเอง และต้องการกู้ซื้อบ้าน สิ่งหนึ่งที่จะตามมาอย่างแน่นอน ก็คือ การจ่ายดอกเบี้ยบ้าน ซึ่งหากวางแผนไม่ดี ดอกเบี้ยบ้านอาจทำให้มูลค่าบ้านของเราเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าได้ ดังนั้น หากใครเลือกที่จะผ่อนซื้อบ้านแล้ว ต้องการทราบวิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายจากอัตราดอกเบี้ยก้อนนี้ให้ได้มากที่สุด

วิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน

การผ่อนบ้านให้หมดเร็วไม่ได้มีสูตรตายตัวที่แน่นอน แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ, สภาพทางการเงินของแต่ละบุคคล และควรรู้วิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจว่า ควรโปะบ้านในช่วงไหนจึงจะดีที่สุด

หากเราเข้าใจการคำนวณอัตราดอกเบี้ยบ้าน โอกาสที่เราจะจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงก็ย่อมมีความเป็นไปได้มากกว่า บทความนี้จึงอยากจะมาแนะนำถึงวิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน รวมไปถึงตัวอย่างที่จะทำให้เราเข้าใจง่าย ๆ ว่าดอกเบี้ยบ้านคำนวณอย่างไร

วิธีคิดดอกเบี้ยบ้านมีกี่ประเภท

ก่อนเข้าสู่วิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน อยากจะให้ทุกคนทราบก่อนว่า ประเภทของการคำนวณดอกเบี้ยบ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ซึ่งมีผลต่อกระบวนการในการคิดดอกเบี้ย ประเภทของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ได้แก่

เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan)

แบบแรกจะเรียกว่า เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate loan) ซึ่งหมายความว่า เราจะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยที่อัตราเดิม ในกำหนดระยะเวลาที่ธนาคารระบุเอาไว้ ซึ่งไม่ว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อัตราดอกเบี้ยที่เราจ่ายก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่จะช่วยให้เราวางแผนการเงินได้ง่ายกว่า เพราะทราบอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนตั้งแต่แรก

เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan)

ส่วนวิธีคิดดอกเบี้ยบ้านอีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate loan) ซึ่งหมายความว่า การจ่ายดอกเบี้ยในลักษณะนี้จะไม่ได้ระบุเป็นตัวเลขค่าคงที่ แต่จะแปรตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศ หรือต้นทุนการเงินของสถาบันการเงิน และมีโอกาสที่จะขึ้นหรือลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น จึงไม่สามารถรับประกันได้ว่าในอนาคตเราจะต้องจ่ายดอกเบี้ยบ้านในอัตราที่เพิ่มขึ้นหรือลดกันแน่ 

ตัวอย่างวิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน

มาเข้าสู่เนื้อหาของการคำนวณดอกเบี้ยบ้านกันดีกว่า วิธีคิดดอกเบี้ยบ้านจะใช้วิธีที่เรียกว่า “ลดต้นลดดอก” หรือหมายความว่า เมื่อเงินต้นของสินเชื่อลดลง อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายก็จะลดลงตามได้ด้วย ทำให้การผ่อนชำระค่างวดในแต่ละครั้ง มีสัดส่วนของค่างวดที่แตกต่างกันออกไป ตามจำนวนเงินต้นที่เหลืออยู่ ซึ่งใช้วิธีคำนวณนี้ได้ทั้งการผ่อนบ้านใหม่หรือรีไฟแนนซ์บ้าน

ในส่วนต่อมา เราจะต้องรู้สูตรการคำนวณดอกเบี้ยกันก่อน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนย่อย นั่นคือ

1. คำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด

สูตร ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี

2. คำนวณยอดเงินรวมเมื่อจบงวด

สูตร ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด = เงินต้นคงเหลือ + ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด (จากข้อ 1)

3. คำนวณเงินต้นคงเหลือ

สูตร เงินต้นคงเหลือ = ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด (จากข้อ 2) – ค่างวดต่อเดือน

ตัวอย่างโจทย์และตัวอย่างวิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน

โจทย์ : หากต้องการกู้ซื้อบ้าน 2,000,000 บาท ธนาคารกำหนดให้ผ่อนชำระเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.00% ต่อปี และเริ่มชำระงวดแรกเดือนกรกฎาคม จะต้องจ่ายดอกเบี้ยและมีเงินต้นคงเหลือแต่ละงวดเท่าไหร่?

ตัวอย่างวิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน

วิธีคิดงวดเดือนกรกฎาคม : 

1. ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด   = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี

= (2,000,000 x 3.00% x 31) ÷ 365 = 5,095.89 บาท

2. ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด = เงินต้นคงเหลือ + ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด

= 2,000,000 + 5,095.89 = 2,005,095.89 บาท

3. เงินต้นคงเหลือ = ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด (จากข้อ 2) – ค่างวดต่อเดือน

= 2,005,095.89 - 10,000 = 1,995,095.89

วิธีคิดงวดเดือนสิงหาคม : 

1. ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด  = (เงินต้นคงเหลือ x อัตราดอกเบี้ยต่อปี x จำนวนวันในงวดนั้น) ÷ จำนวนวันใน 1 ปี

= (1,995,095.89 x 3.00% x 31) ÷ 365 = 5,083.40 บาท

2. ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด = เงินต้นคงเหลือ + ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่องวด

= 1,995,095.89 + 5,083.40 = 2,000,179.29 บาท

3. เงินต้นคงเหลือ  = ยอดเงินรวมเมื่อจบงวด (จากข้อ 2) – ค่างวดต่อเดือน

= 2,000,179.29 - 10,000 = 1,990,179.29

การวางแผนคำนวณดอกเบี้ยบ้าน

จากข้อมูลวิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน รวมไปถึงตารางที่แสดงดอกเบี้ยบ้านที่จ่ายในแต่ละงวด จะเห็นได้ว่าในแต่ละเดือน จะใช้เงินต้นคงเหลือของเดือนที่ผ่านมา เป็นค่าตั้งต้นเพื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยในเดือนต่อไป

นั่นหมายความว่า การจ่ายค่างวดในเดือนก่อนหน้า จะมีผลต่อเนื่องกับการจ่ายดอกเบี้ยในเดือนถัดไป และมีผลทำให้สัดส่วนของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมีมูลค่าลดลง ซึ่งส่งผลให้ยอดเงินกู้ลดลงได้เร็วกว่าเดิมด้วยเช่นกัน

สำหรับตารางด้านล่างนี้จะแสดงให้เห็นว่า การเพิ่มค่างวดที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน จะช่วยให้เราลดภาระการผ่อนบ้านได้มากแค่ไหน? โดยเราจะแสดงข้อมูลการจ่ายค่างวดตั้งแต่ 10,000 บาท และเพิ่มขึ้นเป็น 10,500, 11,000, 15,000 ไปจนถึง 20,000 บาท เพื่อดูว่าการที่เรารีบผ่อนจ่ายในมูลค่าที่มากขึ้นคงที่ทุกเดือน จะช่วยประหยัดดอกเบี้ยบ้านไปได้มากแค่ไหนกัน

ตารางคำนวณดอกเบี้ยบ้าน

จากยกตัวอย่างข้างต้น หากเราจ่ายค่างวดเดือนละ 10,000 บาท คงที่ทุกเดือน และใช้วิธีคิดดอกเบี้ยบ้านตามที่แสดงข้างต้น เราจะต้องจ่ายเงินสำหรับกู้บ้านหลังนี้อยู่ที่ 278 งวด หรือคิดเป็นมูลค่า 2.77 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน หากเราเพิ่มการจ่ายค่างวดเพียงแค่เดือนละ 500 บาท คงที่ในทุกเดือน จำนวนงวดที่จ่ายจะลดลงเหลือเพียงแค่ 259 งวด และจ่ายมูลค่าบ้านรวม 2.72 ล้านบาท หรือประหยัดดอกเบี้ยไปได้ประมาณ 56,490 บาท  

แต่ถ้าเราเพิ่มการจ่ายค่างวดเป็นเดือนละ 20,000 บาท จำนวนงวดที่จ่ายจะลดลงเหลือเพียงแค่ 116 งวด และคิดเป็นมูลค่าบ้านที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 2.30 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างจากการประหยัดค่าดอกเบี้ยบ้านมากกว่าการจ่ายค่างวด 10,000 บาท ได้ถึง 470,000 บาท

ดังนั้น หากทุกคนเข้าใจถึงวิธีคิดดอกเบี้ยบ้าน ก็จะนำไปสู่การวางแผนทางการเงินที่ดีมากขึ้นกว่าเดิมได้ หรือหมายความอีกนัยหนึ่งว่า ยิ่งเราโปะเงินค่าบ้านในทุก ๆ งวดได้มากเท่าไหร่ ก็จะส่งผลทำให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสุทธิลดน้อยลงมากขึ้นเท่านั้น 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยอดเงินที่นำมาใช้ในการผ่อนแต่ละเดือนไม่จำเป็นต้องคงที่เหมือนกับตัวอย่างที่แสดง และสามารถปรับเพิ่มลดตามกำลังที่มีในช่วงเวลานั้นได้ ที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้รายรับที่มี และเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ด้วย

สรุป

เชื่อว่าบทความนี้น่าจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ช่วยให้คนที่อยากมีบ้านได้รู้จักวิธีการในการคำนวณดอกเบี้ยบ้านแบบง่าย ๆ ว่าควรที่จะคำนึงถึงปัจจัยใดบ้าง และจะพอจะมีวิธีการใดที่ทำให้การจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดน้อยลงได้มากที่สุด เพราะวิธีคิดดอกเบี้ยบ้านเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก ดังนั้น ยิ่งเราโปะบ้านอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นตัวช่วยง่าย ๆ ที่ทำให้การจ่ายดอกเบี้ยรวมน้อยลง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องทุ่มเงินทั้งหมดที่มีเพื่อมาโปะบ้านให้เร็วที่สุด เพราะเรายังจำเป็นต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิต หรืออาจจะต้องนำไปใช้วางแผนการลงทุนอื่น ๆ ที่ได้ดอกเบี้ยมากกว่าอัตราดอกเบี้ยบ้านที่เสียไป

ยังมีความรู้ดี ๆ นอกเหนือจากการผ่อนบ้าน เพราะไม่ว่าเราจะขอสินเชื่อใด ๆ Refinn ก็มีความพร้อมที่จะเตรียมหลากหลายบริการมารองรับ เช่น รีไฟแนนซ์รถยนต์, สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อธุรกิจ หรือถ้าใครอยากรู้จักเราให้มากขึ้น สามารถติดตามเราที่นี่ได้เลย

เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566
Refinn Writer
ช่วยเปรียบเทียบโปรโมชั่นที่ประหยัดดอกเบี้ยที่สุด ฟรี ไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม