กู้ร่วมดีไหม? กู้ร่วมกับใครได้บ้าง? อยากรู้ต้องอ่าน
กู้ร่วมดีไหม? กู้ร่วมกับใครได้บ้าง? อยากรู้ต้องอ่าน

กู้ร่วมดีไหม? กู้ร่วมกับใครได้บ้าง? อยากรู้ต้องอ่าน

การ “กู้ร่วม” นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้คุณสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากทางธนาคารจะมั่นใจได้ว่าคุณ และผู้กู้ร่วมของคุณมีความสามารถ และกำลังเพียงพอในการผ่อนชำระ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจกู้ร่วมกับใครสักคนหนึ่ง คุณจำเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียด และข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

ซึ่งวันนี้ Refinn เรามีข้อควรรู้เกี่ยวกับการกู้ร่วมมาฝากทุกคนกัน ว่าการกู้ร่วมดีไหม? กู้ร่วมกับใครได้บ้าง? ถ้าพร้อมแล้วมาติดตามดูไปพร้อม ๆ กันได้เลย

กู้ร่วม คืออะไร

ก่อนที่จะไปดูว่าการ กู้ร่วมนั้นดีไหม? แล้วเราสามารถกู้ร่วมกับใครได้บ้าง? เรามาทำความรู้จักกับการ “กู้ร่วม” ให้มากขึ้นกันก่อนดีกว่าว่ากู้ร่วมคืออะไร? ซึ่งการกู้ร่วม คือ การทำสัญญากู้ขอสินเชื่อกู้ร่วมกับบุคคลอื่น หรือการขอกู้เงินร่วมกับบุคคลอื่นจากสถาบันการเงิน (ธนาคาร) เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ความเชื่อมั่น รวมถึงโอกาสที่ทางธนาคารจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น และมีวงเงินสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง 

โดยหลัก ๆ แล้วการกู้ร่วมนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การกู้ร่วมซื้อบ้าน, กู้ร่วมซื้อคอนโด, กู้ร่วมสร้างบ้าน, กู้เงินร่วมกัน หรือการกู้ร่วมลงทุนระหว่างสองบริษัท ขอสินเชื่อธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของกันและกัน หรือเพื่อหวังผลประกอบทางธุรกิจให้ดีขึ้น 

ซึ่งการกู้ร่วมจะแตกต่างจากการค้ำประกันอย่างเห็นได้ชัด ตรงที่บุคคลที่เป็นผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินแทนทั้งหมด หากวันใดวันหนึ่งผู้กู้เกิดทำผิดสัญญา หรือละเมิดข้อตกลง บุคคลที่เป็นผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ในทางกลับกันการกู้ร่วมไม่ว่าใครจะทำผิดสัญญา หรือไม่ชำระเงินตามสัญญาที่ระบุไว้ ผู้กู้ร่วมทุกคนจะต้องมีส่วนรับผิดชอบชำระหนี้สินทั้งหมด

กู้ร่วม คืออะไร

แล้วสามารถกู้ร่วมกับใครได้บ้าง

สำหรับการกู้ร่วมโดยปกติแล้วสามารถกู้ร่วมกันได้ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป แต่ไม่สามารถกู้ร่วมได้เกิน 3 คน ภายใต้สัญญากู้เดียวกัน ซึ่งการกู้ร่วมด้วยกันนั้นจะต้องเป็นบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลใกล้ชิดที่มีนามสกุลเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่, พี่-น้อง, สามี-ภรรยา-ลูก หรือแม้แต่ญาติห่าง ๆ ก็สามารถยื่นขอกู้ร่วมด้วยกันได้ 

นอกจากนี้ แม้ว่าผู้ขอกู้ร่วมจะไม่ใช่ครอบครัว หรือสายเลือดเดียวกัน ก็สามารถยื่นขอกู้ร่วมได้ อย่าง การขอกู้ร่วมกับแฟน หรือขอกู้ร่วมกับเพื่อน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขอกู้สำเร็จภายในครั้งเดียว หรือวงเงินกู้อาจเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

คู่รัก LGBTQIA+ สามารถกู้ร่วมได้ไหม

หลายคนอาจจะสงสัยว่า นอกจากการขอกู้ร่วมกับแฟนต่างเพศได้แล้ว การขอกู้ร่วมกับแฟนที่เป็นคู่รัก LGBTQIA+ สามารถกู้ร่วมด้วยกันได้ไหม?  คำตอบก็คือสามารถขอกู้ร่วมด้วยกันได้ อย่างการกู้ซื้อบ้านร่วมกัน ที่มีหลายธนาคารให้การสนับสนุนกับผู้กู้ร่วมในกลุ่ม LGBTQIA+ แต่ทั้งนี้ จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร 

อาทิ ในการกู้ร่วมบ้านด้วยกัน คู่รัก LGBTQIA+ จะต้องมีเอกสารรับรองการอยู่อาศัยร่วมกัน หรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ คู่รัก LGBTQIA+ จะสามารถกู้บ้านร่วมกันได้สูงสุด 90-95% เท่านั้น! ไม่ว่าจะเป็นในกรณีใดก็ตามแต่ การกู้ร่วมจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้กู้ร่วม สภาวะทางการเงิน และความมั่นคงทางสายอาชีพด้วย 

กู้ร่วม มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ต่อมาเรามาดูกันดีกว่าครับว่าการกู้ร่วมมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

ข้อดีของการกู้ร่วม

  • มีโอกาสในการอนุมัติขอสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากมีบุคคลในการขอกู้มากกว่า 1 คนขึ้นไป จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของผู้กู้ 
  • การกู้ร่วมช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ช่วยกระจายความเสี่ยงไม่ต้องแบกภาระหนี้สินไว้คนเดียว 
  • มีความเป็นไปได้ที่การกู้ร่วมของคุณในครั้งนี้ มีวงเงินเพิ่มขึ้นกว่าการกู้คนเดียว

ข้อเสียของการกู้ร่วม

  • ระวังการผิดใจกันระหว่างสัญญา หรือมีปัญหากัน อย่าง คู่สามี-ภรรยา ที่หากวันใดวันหนึ่งเกิดทะเลาะ หรือผิดใจกันขึ้นมาอาจนำไปสู่การถอนการกู้ร่วมกันได้ ซึ่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร ว่าถ้าหากผู้กู้ร่วมคนที่เหลือมีศักยภาพ หรือความสามารถในการผ่อนชำระเพียงพอ อาจต้องแก้ไขปัญหาหนี้ด้วยการรีไฟแนนซ์ จากผู้กู้ร่วมให้ถูกถอดถอนเป็นกู้เดี่ยว
  • การกู้ร่วมทำให้การกู้ในครั้งต่อไปยากขึ้น เนื่องจากยังคงมีหนี้ติดค้างชำระอยู่ 
  • หากกู้ร่วมด้วยกันสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี จากสูงสุด 100,000 บาท จะถูกหารเฉลี่ยสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีสองคนอยู่ที่ 50,000 เท่านั้น! 

สิ่งที่ควรรู้ในการกู้ร่วม

สิ่งที่ควรรู้ในการกู้ร่วม

แม้การกู้เงินร่วมกับบุคคลอื่นจำเป็นตัวเลือกที่ดีในบางกรณี อย่าง การกู้ร่วมซื้อบ้านกับเพื่อน หรือการกู้ร่วมซื้อคอนโดกับแฟน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อควรรู้ และคำนึงถึงก่อนจะตัดสินใจกู้ร่วม ดังนี้ 

  • การกู้ร่วมไม่ได้หมายความว่าต้องชำระหนี้เท่ากัน!

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการกู้ร่วม คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องชำระหนี้ หรือหารหนี้เท่า ๆ กัน ซึ่งในความจริงแล้ว คือ ทุกคนที่เป็นผู้กู้ร่วมจะต้องรับผิดชอบหนี้สินก้อนนี้ร่วมกัน อย่างถ้าหากผิดชำระหนี้ หรือถูกยึดทรัพย์ ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ขอกู้ร่วมมีสิทธิ์ที่จะจะเรียกชำระหนี้จากผู้กู้ร่วมคนใดก็ได้ 

  • การใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ 

การกู้ร่วม อย่างกู้ร่วมซื้อบ้าน หรือคอนโด จะมีการใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ 2 แบบ คือ การใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว และการใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทั้งหมดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ อย่างเช่น การกู้ร่วม 3 คน ก็จะต้องใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทั้ง 3 คนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นด้วย ซึ่งหากผู้กู้คนไหนไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ นั่นหมายความว่า ผู้ที่ไม่มีชื่อจะไม่มีสิทธิ์ใด ๆ ในกรรมสิทธิ์นั้น ดังนั้นการจะใส่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้กู้ร่วมทุกคน

  • การกู้ร่วมกับสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี 

อย่างที่บอกไปในข้อเสียว่าการลดหย่อนภาษี ปกติแล้วจะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท แต่เมื่อใดที่กู้ร่วมกับใครสักคนหนึ่ง สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีจะถูกหารออกเท่ากัน อาทิ ถ้ากู้ร่วม 2 คน จะถูกหารสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีอยู่ที่ 50,000 บาท แต่ถ้ากู้ร่วม 3 คน สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีจะอยู่ที่ 33,333.33 บาท 

  • หากผู้กู้ร่วมถึงแก่กรรม 

ในกรณีที่ผู้กู้ร่วมถึงแก่กรรม ผู้กู้ร่วมอีกคนที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องติดต่อกับทางธนาคาร เพื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ในการผ่อนชำระ และครอบครองกรรมสิทธิ์ ซึ่งถ้าหากไม่แจ้งกับทางธนาคารทางเจ้าหน้าที่ก็จะยึดตามสัญญาเดิม 

เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการกู้ร่วม

สำหรับการกู้ร่วมเป็นการยื่นขอสินเชื่อ หรือการขอกู้เงินร่วมกับบุคคลอื่น ดังนั้น เพื่อให้สถาบันทางการเงิน (ธนาคาร) เชื่อมั่น และอนุมัติการขอกู้เงินในครั้งนี้ คุณจำเป็นต้องเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้คุณสามารถทำธุรกรรมได้ง่ายมากขึ้น และผ่านฉลุยในครั้งเดียว

เอกสารหลักประกัน

  • สัญญาที่จะซื้อขาย 
  • สำเนาโฉนด หรือสำเนาหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด 

*เอกสารที่ต้องใช้อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขของทางธนาคาร โปรดสอบถามรายละเอียดกับธนาคารก่อนยื่นกู้ร่วม 

เอกสารส่วนตัว

  • บัตรประจำตัวประชาชน 
  • สำเนาทะเบียนบ้าน 
  • ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือใบมรณบัตร 
  • เอกสารเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)  
  • เอกสารอื่น ๆ ที่ยืนยันสถานะทางครอบครัว 

เอกสารการเงิน

  • ใบรับรองเงินเดือน หรือสลิปเงินเดือน  
  • สำเนาทะเบียนร้านค้า หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล 
  • สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร และ Statement ย้อนหลัง 6-12 เดือน 
  • หลักฐานแสดงรายได้ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ 

แล้วถ้ากู้ร่วมจะขอสินเชื่อบ้านได้ไหม

แล้วถ้ากู้ร่วมจะขอสินเชื่อบ้านได้ไหม? คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย และอยากฟังคำตอบอยู่ใช่ไหม ซึ่งการกู้ร่วมจะสามารถขอสินเชื่อบ้านได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบาย และเงื่อนไขของสถาบันทางการเงินแต่ละแห่ง ว่าคุณสมบัติของผู้กู้นั้นตรงกับคุณสมบัติของทางธนาคารหรือไม่? อาทิ ความสามารถในการชำระเงิน, วงเงินของผู้กู้, รายได้ และค่าใช้จ่ายของผู้กู้, จำนวนหนี้สินที่มีอยู่ของผู้กู้ เป็นต้น 

แล้วกู้ร่วมสามารถรีไฟแนนซ์บ้านได้ไหม

หากกู้ร่วมไปได้สักระยะหนึ่งแล้วอยากรีไฟแนนซ์บ้านสามารถทำได้ไหม? แน่นอนว่าสามารถทำได้ เพราะการรีไฟแนนซ์เป็นการขอสินเชื่อตัวหนึ่งกับทางธนาคาร โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าธนาคารเดิม ซึ่งข้อดีของการรีไฟแนนซ์ คือ ได้รับดอกเบี้ยที่ถูกกว่าเดิม, ยอดผ่อนชำระอาจลดลง และอาจขอเพิ่มวงเงินขอกู้เพิ่มได้

แนะนำโปรโมชั่นขอสินเชื่อบ้านและรีไฟแนนซ์บ้านสำหรับผู้กู้ร่วม

หากใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเกิดอยากขอสินเชื่อบ้าน และรีไฟแนนซ์บ้าน แต่ไม่อยากไปธนาคารให้ยุ่งยากเสียเวลา เราขอแนะนำให้ลองเข้าไปใช้บริการ ค้นหาโปรโมชัน สมัครกู้ซื้อบ้านออนไลน์กับธนาคารชั้นนำ และรีไฟแนนซ์ฟรีได้ที่ www.refinn.com เพราะที่ Refinn เราเป็นตัวช่วยในการเปรียบเทียบการรีไฟแนนซ์ ขอสินเชื่อของผู้กู้ ต่อสถาบันการเงินเจ้าใหม่ ที่จะทำการเปรียบเทียบให้ว่าสถาบันการเงินใด ให้อัตราดอกเบี้ยได้ถูกที่สุด และสิทธิประโยชน์มากที่สุด

ถ้าไม่ต้องการกู้ร่วมแล้วสามารถยกเลิกได้ไหม

ถ้าไม่ต้องการกู้ร่วมแล้วสามารถยกเลิกได้ไหม

แม้การกู้ร่วมจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับหลาย ๆ ฝ่าย แต่ถ้าเกิดวันใดวันหนึ่งเกิดอยากยกเลิกการกู้ร่วมด้วยกันขึ้นมา จะมีวิธีปฏิบัติ หรือยกเลือกการกู้ร่วมอย่างไรบ้าง 

ถอนชื่อผู้กู้ร่วม

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดอยากยกเลิก หรือถอนการกู้ร่วมขึ้นมา สิ่งแรกที่ควรทำเลยก็คือ การติดต่อกับสถาบันการเงินที่ทำการตกลงทำสัญญาร่วมกับผู้กู้ร่วมเอาไว้ ว่าเมื่อยกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ที่จะมีสิทธิ์ในการครอบครองกรรมสิทธิ์คนต่อไปจะเป็นใคร พร้อมทั้งยังต้องแจ้งความประสงค์กับทางสถาบันการเงินด้วยว่า ต้องการจะขอถอนชื่อผู้กู้ร่วมออก เพื่อที่สถาบันการเงินจะได้ทำการพิจารณา และประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้ที่รับช่วงต่อ ว่ามีกำลัง และความสามารถเพียงพอในการผ่อนชำระต่อหรือไม่ 

รีไฟแนนซ์บ้าน

หากยื่นขอถอนชื่อผู้กู้ร่วมไม่สำเร็จ ทางธนาคารไม่อนุมัติให้ถอนชื่อผู้กู้ร่วมออก เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าผู้รับช่วงต่อมีกำลัง หรือความสามารถไม่เพียงพอในการผ่อนชำระ คุณอาจจะต้องหาทางออกด้วยการรีไฟแนนซ์บ้านกับทางสถาบันการเงินอื่น เพื่อให้พิจารณาการกู้เดี่ยวนั่นเอง ซึ่งการรีไฟแนนซ์บ้านโดยส่วนใหญ่แล้ว จะพิจารณาจาก รายได้ของผู้กู้, ยอดดาวน์ที่กู้ซื้อบ้าน, เช็กหนี้สินที่ต้องชำระในแต่ละเดือน และประวัติเครดิตบูโร หรือแบล็กลิสต์ 

ขายบ้าน

หากยื่นเรื่องขอถอนชื่อผู้กู้ร่วม และรีไฟแนนซ์บ้านแล้วยังไม่ผ่าน ทางออกสุดท้าย คือ การขายบ้านทันที เมื่อผู้กู้ร่วมทั้งคู่ตัดสินใจยกเลิกสัญญา หรือแยกทางกัน ซึ่งผู้กู้ร่วมทั้งคู่จะต้องพูดคุย และทำข้อตกลงให้ชัดเจนก่อนจะขายบ้าน เนื่องจากการขายบ้านส่วนใหญ่มักจะมีค่าใช้จ่ายในการโอนจอง ค่าตรวจบ้าน หรือค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ควรตกลงกันให้ลงตัว

สรุปเรื่องกู้ร่วม

เป็นอย่างไรกันบ้าง สำหรับสาระน่ารู้เรื่องการกู้ร่วมที่เรานำมาฝากในวันนี้ เราหวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้คุณมีความเข้าใจเกี่ยวกับการกู้ร่วมมากยิ่งขึ้น เพราะแม้การกู้ร่วมจะเป็นทางเลือกที่ดีในการทำความฝันให้เป็นจริง แต่ก็ต้องไม่ลืมพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจกู้ร่วม 

และถ้าหากคุณต้องการกู้ร่วมขอสินเชื่อ, รีไฟแนนซ์บ้าน หรือบริการอื่น ๆ เพิ่มเติม  คุณสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.refinn.com 

หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ เพจ Facebook : Refinn หรือ Line id : @Refinn

เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566
Refinn Writer
ช่วยเปรียบเทียบโปรโมชั่นที่ประหยัดดอกเบี้ยที่สุด ฟรี ไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม